ฟ้าผ่า เกิดจากอะไร และวิธีป้องกันตัวจากฟ้าฝ่า รับมือหน้าฝนนี้

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ "ฟ้าผ่าคน" เสียชีวิตนับสิบราย ในช่วงเวลา 1 เดือน ของการเริ่มต้นหน้าฝน รวมถึงสัตว์เลี้ยงที่ปล่อยเลี้ยงไว้ตามทุ่งนาก็ถูกฟ้าผ่าตายไปจำนวนไม่น้อย เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สร้างความสูญเสียให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังสร้างความหวาดกลัวยามฝนฟ้าคะนอง เพราะไม่อาจรู้เลยว่า เสียงฟ้าร้อง ฟ้าคำราม จะกลายเป็นฟ้าผ่าที่คร่าชีวิตเราหรือไม่ ดังนั้น มาทำความรู้จักกับ การเกิดฟ้าผ่า อันตรายจากฟ้าผ่า รวมถึงวิธีป้องกันตนเอง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฟ้าผ่าในช่วงหน้าฝนกันดีกว่า

          สำหรับปรากฏการณ์ฟ้าผ่า เกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าออกจากเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือ เมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) มีลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่ บริเวณฐานเมฆจะสูงจากพื้นประมาณ 2 กิโลเมตร และส่วนยอดเมฆอาจสูงถึง 20 กิโลเมตร โดยภายในก้อนเมฆจะมีการไหลเวียนของกระแสอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้หยดน้ำและก้อนน้ำแข็งในเมฆเสียดสีกันจนเกิดประจุไฟฟ้า โดยพบว่าประจุบวกมักจะอยู่บริเวณยอดเมฆ ส่วนประจุลบอยู่บริเวณฐานเมฆ ซึ่งประจุลบที่ฐานเมฆอาจจะเหนี่ยวนำให้พื้นผิวของโลกที่อยู่ใต้เงาของมันมีประจุเป็นบวกด้วย

ฟ้าผ่าแบ่งได้อย่างน้อย 4 แบบหลัก ได้แก่

1. ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ
2. ฟ้าผ่าจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่ง
3. ฟ้าผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้น เรียกว่า ฟ้าผ่าแบบลบ
4. ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น เรียกว่า ฟ้าผ่าแบบบวก

          สำหรับฟ้าผ่าแบบลบและแบบบวกนั้นจะทำอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นดินหรือผืนน้ำ โดยฟ้าผ่าแบบลบจะผ่าลงบริเวณใต้เงาของเมฆฝนฟ้าคะนองเป็นหลัก เพราะพื้นที่ดังกล่าวถูกเหนี่ยวนำให้มีสภาพเป็นประจุบวก ส่วนฟ้าผ่าแบบบวกสามารถผ่าได้ไกลออกไปจากก้อนเมฆถึง 40 กิโลเมตร ภายในเวลา 1 วินาที โดยมักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฝนฟ้าคะนองคือหลังจากที่ฝนซาแล้ว

 ในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือช่วยตรวจวัดความเสี่ยงของการเกิดฟ้าผ่า หากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่เหนือศีรษะ แล้วเส้นขนบนผิวหนังลุกขึ้นหรือเส้นผมบนศีรษะลุกตั้งขึ้น แสดงว่ากำลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า หรือหากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองใกล้ตัวในระยะประมาณ 16 กิโลเมตร แล้วมีฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า และได้ยินเสียงฟ้าร้องหลังฟ้าแลบน้อยกว่า 30 วินาที แสดงว่าอยู่ใกล้เขตเสี่ยงฟ้าผ่า ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ดังนี้

 

วิธีป้องกันตัวฟ้าผ่า

1. หากอยู่ในที่โล่งให้หาที่หลบที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ แต่อย่าอยู่ใกล้ผนังอาคาร ประตู และหน้าต่าง หรือหลบในรถยนต์ที่ปิดกระจกมิดชิด แต่อย่าสัมผัสกับตัวถังรถ

2. หากหาที่หลบไม่ได้ ให้หมอบนั่งยอง ๆ ให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด โดยนำมือทั้งสองข้างมาแนบติดกับเข่า แล้วซุกหัวเข้าไประหว่างเข่า ส่วนเท้าให้ชิดกันหรือเขย่งปลายเท้า เพื่อลดพื้นที่สัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุด แต่อย่านอนหมอบกับพื้น เพราะกระแสไฟฟ้าอาจวิ่งมาตามพื้น

3. อย่ายืนหลบอยู่ใต้ต้นไม้สูงและบริเวณใกล้เคียงกับต้นไม้ หรืออยู่ในที่สูงและใกล้ที่สูง ที่สำคัญอย่ากางร่ม

4. ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะแม้โทรศัพท์มือถือจะไม่ใช่สื่อล่อฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในมือถือ อีกทั้งโทรศัพท์มือถือมีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ที่เป็นตัวล่อฟ้าจึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า และยังทำให้แบตเตอรี่ลัดวงจรจนเกิดระเบิด ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บมากขึ้น
 

5. ห้ามใช้โทรศัพท์บ้านหรือเล่นอินเทอร์เน็ตในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เสาสัญญาณหรือเสาอากาศที่อยู่นอกบ้าน และกระแสไฟจากฟ้าผ่าจะวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ทำให้โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ได้รับความเสียหาย รวมถึงยังส่งผลให้ผู้ใช้งานได้รับอันตราย

6. ถอดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด เพราะฟ้าอาจผ่าลงที่เสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้า ทำให้กระแสไฟฟ้ากระชาก เครื่องใช้ไฟฟ้าจึงอาจเสียได้ และควรดึงเสาอากาศของโทรทัศน์ออก เพราะหากฟ้าผ่าที่เสาอากาศบนหลังคาบ้าน อาจวิ่งเข้าสู่โทรทัศน์ได้

7. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโลหะทุกชนิด เนื่องจากโลหะเป็นตัวนำไฟฟ้า และอย่าอยู่ใกล้สายไฟ

8. หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ เพราะเป็นตัวนำไฟฟ้า

9. ควรเตรียมไฟฉายไว้ส่องดูทาง เพราะอาจเกิดไฟดับหรือไฟไหม้ได้ แต่ไม่ควรใช้เทียนไขในบ้าน เพราะอาจเสี่ยงต่อไฟไหม้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวสดและกระปุกดอทคอม

ภาพจาก กระปุกดอทคอม